เปิดภาพกองทัพอาระกันปะทะเดือดกองทัพพม่า ในพื้นที่รัฐยะไข่
สถานการณ์ในเมียนมากำลังมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ หลังจากกองกำลังชาติพันธุ์จับมือกันเปิดฉากโจมตีกองทัพพม่าจากทุกด้านตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา พื้นที่สู้รบหลักๆ ขณะนี้คือ บริเวณรัฐฉานทางเหนือ รัฐคาเรนนี (หรือรัฐกะยา) ซึ่งอยู่ทางตะวันออก และรัฐยะไข่ ที่อยู่ทางทิศตะวันตกของประเทศ ล่าสุดเมื่อวานนี้ที่รัฐยะไข่ มีภาพการต่อสู้ระหว่างกองทัพอาระกัน ซึ่งเป็นกองกำลังชาติพันธุ์ในพื้นที่กับกองทัพพม่าออกมา
ทหารเมียนมายอมจำนน กลุ่มโกก้างยึดเมืองในรัฐฉานได้อีกเมือง
พรมแดน เมียนมา-จีน เดือดคำพูดจาก สล็อตเว็บตรง! รับมือสงครามกองกำลังชาติพันธุ์
ครบ 1 เดือน “ปฏิบัติการ 1027” เมียนมาลุกเป็นไฟ หลายพื้นที่ถูกยึด
เมื่อวานนี้ช่วงเช้า กองทัพอาระกันหรือ AA ซึ่งมีฐานที่มั่นในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของประเทศ ได้เผยแพร่ภาพการสู้รบระหว่างกองทัพอาระกันกับทหารของกองทัพพม่า โดยทั้ง 2 ฝ่ายมีการสาดกระสุนใส่กันอย่างดุเดือด
กองทัพ AA ระบุว่า การสู้รบที่เห็นในภาพเกิดขึ้นที่เมืองเพ้าก์ตอว์ เมืองนี้มีประชากรอยู่ประมาณ 20,000 คน เป็นเมืองที่มีความสำคัญกับยุทธศาสตร์การรบกับทั้งกองทัพพม่าและกองทัพอาระกัน เนื่องจากอยู่ห่างจากเมืองซิตตะเว ซึ่งเป็นเมืองเอกของรัฐยะไข่ไปเพียง 25 กิโลเมตรเท่านั้น รวมถึงอยู่ไม่ไกลมากจากท่าเรือน้ำลึกด้วย โดยกองทัพอาระกันได้บุกเข้ายึดเมืองได้เมื่อ 10 วันที่ผ่านมา หลังจากนั้นกองทัพพม่าก็เปิดฉากโจมตีหนักเพื่อยึดเมืองคืน
นอกเหนือจากภาพการปะทะกันแล้ว ยังมีภาพกลุ่มควันและเปลวเพลิงขนาดใหญ่ด้วย กองทัพ AA ระบุว่า ทหารพม่าได้จุดไฟเผาบ้านเรือนประชาชน และเพลิงที่ลุกไหม้ยังเกิดจากการที่ทหารพม่าระดมยิงอาวุธหนักจากเมืองซิตตะเวเข้าใส่ด้วย
มีรายงานว่า ทหารพม่าบางส่วนที่ยังอยู่ในเมืองกำลังเปิดฉากต่อสู้กับกองทัพ AA อย่างดุเดือด ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีประชาชนในเมืองเพ้าก์ตอว์หนีออกมามากกว่า 18,000 คนแล้ว ส่วนคนที่เหลืออยู่ก็ต้องวิ่งหนีกันอย่างอลหม่านหลังเกิดการสู้รบ
ในอดีตรัฐยะไข่เคยเป็นราชอาณาจักรปกครองตนเอง ก่อนที่จะถูกพม่าเข้ายึดเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 18 จากนั้นอังกฤษก็เข้ามายึดพม่าทั้งหมดเป็นอาณานิคม พม่าได้รับเอกราชคืนเมื่อปี 1968 แต่รัฐยะไข่ไม่ได้สิทธิ์ในการปกครองตนเองกลับคืนมา
ประชากรที่อยู่ในรัฐยะไข่มีทั้งชาวพุทธที่เรียกว่าพุทธอาระกัน และชาวมุสลิมที่เรียกว่ามุสลิมโรฮิงญา พุทธอาระกันมีกองกำลังของตัวเองคือ กองทัพอาระกันหรือ AA ส่วนมุสลิมโรฮิงญามีกลุ่มกำลังที่ชื่อว่า กองกำลังปลดปล่อยมุสลิมโรฮิงญา เป้าหมายหลักของกองทัพ AA ขั้นต่ำที่สุดคือ รัฐยะไข่ต้องมีสถานะเป็นเขตปกครองตนเองให้ได้ ส่วนเป้าหมายสูงสุดคือ รัฐยะไข่ต้องได้เอกราชที่สมบูรณ์ การต่อสู้ระหว่างทหารพม่าและกองทัพ AA ในรัฐยะไข่ส่งผลให้พลเรือนทั้งชาวพุทธอาระกันและชาวมุสลิมโรฮิงญาต้องหนีตาย
นี่คือภาพส่วนหนึ่งของชาวโรฮิงญาที่หนีออกจากเมืองเพ้าก์ตอว์ หลังได้รับข่าวว่าทหารพม่ากำลังยกกำลังใหญ่มาสมทบอีกเพื่อยึดเมืองคืนจากกองทัพอาระกัน หลายคนเล่าว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา การสู้รบเป็นไปอย่างหนักหน่วง โดยกองทัพพม่ามีการส่งเครื่องบินรบมาทิ้งระเบิดทำลายทุกสิ่งทุกอย่างในเมือง
การต่อสู้ของกองทัพ AA ในรัฐยะไข่ถือเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการ “Operation 1027” หรือปฏิบัติการโจมตีกองทัพเมียนมาแบบสายฟ้าแลบที่เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยกองกำลังชาติพันธุ์ที่รวมตัวกันในนาม
“กองกำลังพันธมิตรภราดรภาพ” กองกำลังดังกล่าวประกอบได้ด้วย 3 กลุ่มหลักๆ คือ กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติพม่า (MNDAA) ซึ่งเป็นของกลุ่มชาติพันธุ์โกก้าง / กองทัพปลดปล่อยตะอางหรือปะหล่อง (TNLA) และกองทัพอาระกัน (AA)
รัฐฉานเหนือเดือด กองกำลังโกก้าง-กองพม่าปะทะ-คนแห่อพยพ
นอกจากในรัฐยะไข่แล้ว กลุ่มชาติพันธุ์ยังเปิดฉากโจมตีในรัฐฉานทางตอนเหนือโดยเฉพาะในเขตปกครองพิเศษโกก้าง ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของกองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติพม่า (MNDAA) หรือกองทัพโกก้าง
เขตปกครองพิเศษตนเองโกก้างมีพื้นที่ประมาณ 1,895 ตารางกิโลเมตรชายแดนด้านตะวันออกติดกับมณฑลยูนนานของจีน มีเมืองเอกคือเมืองเล่าห์ก่าย ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์โกก้างหรือชาวจีนฮั่นที่อาศัยในเมียนมา
โกก้างได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐฉาน หลังอังกฤษกับกับจีนทำข้อตกลงตกลงแบ่งพื้นที่กันในคราวที่อังกฤษยึดเมียนมาเป็นเมืองขึ้นเมื่อปี 1885
หลังจากนั้น คนในเขตโกก้างจึงตั้งกองกำลังจับอาวุธขึ้นต่อสู้ และแม้รัฐบาลเมียนมาจะให้สถานะที่นี่เป็นเขตปกครองพิเศษแห่งแรกของประเทศเมื่อปี 1989 แต่ความขัดแย้งก็ยังไม่ยุติ เมื่อปี 2009 กองทัพพม่าสามารถกำราบกองทัพโกก้าง (MNDAA) ได้ และมีการจัดตั้งกองทหารหนุนขึ้นมาดูแล หลังกองทัพโกก้างเปิดศึกเมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา การสู้รบที่เมืองเล่าห์ก่ายจึงดุเดือด ส่งผลให้ประชาชนต้องอพยพหนีออกจากเมือง
ภาพนี้บันทึกไว้เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คนส่วนหนึ่งไปออกันอยู่บริเวณชายแดนจีนเพื่อขอลี้ภัยสงคราม อย่างไรก็ตาม หน่วยยามชายแดนของจีนยืนยันว่าไม่สามารถเปิดด่านให้ได้ ก่อนจะเกิดความวุ่นวายและมีการฉีดแก๊สน้ำตาเข้าใส่ผู้ขอลี้ภัย อีกจุดหนึ่งที่คนในเล่าห์ก่ายอพยพไปคือ เมืองเล่าเสี้ยว (Lashio) ซึ่งอยู่ถัดลงมาทางตอนใต้ ก่อนหน้านี้ การเข้าออกเมืองสามารถทำได้ จนกระทั่งเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ทหารพม่าเริ่มปิดเส้นทางเข้าออก
เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา สำนักข่าวอิระวดีเปิดเผยภาพของผู้คนที่ต่อแถวยาวเหยียดอยู่ทางเข้าของเมือง หลังทหารพม่าปิดทุกเส้นทางที่เข้าออกเมืองล่าเสี้ยว นอกเหนือจากการยึดเมือง กองทัพชาติพันธุ์ยังเข้ายึดประตูการค้าหลายแห่งตามแนวชายแดนด้วย
กองทัพโกก้างไล่ยึดเมืองจากกองทัพพม่าในรัฐฉานเหนือ
ที่สำคัญที่สุดคือ ประตู "จี่งซานเจ้าะ" (Kyin San Kyawt Border Gate) ในจังหวัดมูเซ ติดมณฑลยูนนานของจีน โดยกองทัพโกงก้างยึดไว้ได้ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ในวันดังกล่าว กองทัพโกก้างได้ส่งโดรนเพื่อหวังทิ้งระเบิดในฐานทหารพม่าที่ตั้งอยู่ใกล้ประตูดังกล่าว แต่ระเบิดกลับพลาดตกใส่รถบรรทุกสินค้าจากจีนกว่าร้อยคันที่ติดอยู่บริเวณด่านอีกประตูการค้าหนึ่งที่กองทัพโกก้างยึดได้คือประตู Pansai ในเมืองโก
และเมื่อวานนี้สำนักข่าวอิระวดีรายงานว่า กองทัพโกก้างตั้งฝ่ายบริหารของตนเองขึ้นมาบริหารเมืองโกแล้ว สำหรับภาพรวมของการปฏิบัติการทางการทหารในรัฐฉานตอนเหนือตลอดช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา สำนักข่าวอิระวดีรายงานว่า กองกำลังชาติพันธุ์สามารถยึดเมืองสำคัญที่เคยอยู่ในความปกครองของกองทัพพม่าไว้ได้หลายเมือง
นอกจากเมืองโก (Monekoe) แล้ว ก็ยังมีเมือง ชินฉ่วยห่อ (Shinshwehaw) น้ำคำ (Namkham) พองแสง (Phuangsai) กุ๋นหลง (Kunlong เมืองเหล่านี้อยู่ในความควบคุมของกองทัพพม่ามาอย่างยาวนาน และหลายเมืองเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เช่น กุ๋นหลง (Kunlong) เส้นทางหลักที่รัฐบาลทหารพม่าใช้เพื่อเข้าไปในเขตปกครองพิเศษโกก้างมานานหลายสิบปี
การเสียเมืองนี้หมายความว่า อำนาจของทหารพม่าที่จะยื่นเข้าไปในเขตปกครองพิเศษโกก้างมีน้อยลง เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา รัฐบาลทหารพม่าได้มีการประกาศกฎอัยการศึกในเมืองกุ๋นหลงเพื่อให้อำนาจเด็ดขาดกับแม่ทัพภาคตะวันออกเฉียงเหนือในการควบคุมสถานการณ์
ถัดจากรัฐฉานลงมาคือรัฐคะเรนนี (หรือรัฐกะยา) ซึ่งอยู่ติดกับจังหวัดแม่ฮ่องสอนของไทย ที่นี่กองกำลังป้องกันแห่งชาติกระเหรี่ยงแดงหรือ KNDF กำลังต่อสู้กับทหารพม่าอย่างดุเดือดในหลายเมือง รวมถึงเมืองลอยก่อ ซึ่งเป็นเมืองเอกของรัฐ
ปฏิบัติการ 1027 ถือเป็นการจับมือกันครั้งสำคัญของกองกำลังชาติพันธุ์ นอกเหนือจาก 3 กลุ่มหลักแล้ว ก็ยังมีกองทัพเอกราชคะฉิ่นหรือ (KIA) รวมถึงกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ซึ่งเป็นกองกำลังของรัฐบาลแห่งชาติ หรือ NUG ที่ตั้งขึ้นมาหลังจากพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ทำการรัฐประหารรัฐบาลของนาง ออง ซานซูจี เมื่อ 3 ปีที่แล้ว
เป้าหมายของปฏิบัติการ 1027 คือ กำจัดรัฐบาลทหารเพื่อนำไปสู่การสร้างสหภาพแห่งสหพันธรัฐที่บรรดากลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ จะมีอำนาจปกครองตนเองอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายประเมินว่าการเข้าถึงเป้าหมายเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย เพราะยังมีกองกำลังชาติพันธุ์อีกหลายกลุ่มที่ยังสงวนท่าที และยังไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งหมด